top of page

Blog - News - Review - Promotion

ระบบการศึกษาในอินเดีย (ตอนที่ 2 : หลักสูตรการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในอินเดีย)


page2.jpg

สวัสดีค่ะ ผู้ปกครองและน้อง ๆ ทุกคน เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (13-14 พ.ย 2557) พี่เบสท์และทีมงานขั้นเทพของ WES (พี่พิสา พี่ตาล และพี่เมย์) ได้มีโอกาสเข้าร่วมให้ข้อมูลพร้อมทั้งแนะนำหลักสูตรทั้งคอร์สภาษาอังกฤษระยะสั้น หลักสูตรการศึกษาระดับ ม.ปลาย ในอินเดียรวมไปถึงการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ระดับปริญญาตรีเป็นต้นไป ใน “งานมหกรรมตลาดนัดหลักสูตรอุดมศึกษา ครั้งที่ 19” ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานนี้มีผู้ปกครองรวมถึงน้อง ๆ นักเรียนชาวเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง หลายคนสนใจจะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่อินเดีย ซึ่งทาง WES ของเราได้เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยจาก 2 มหาวิทยาลัยชื่อดังของเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ได้แก่ Jain University และ CMR University รวมถึงโรงเรียนประจำอย่าง Jain International Residential School (Bangalore) และโรงเรียนในเครือ CMR Group ค่ะ วันนี้พี่ตั้มเลยจะนำข้อมูลดี ๆ มาแบ่งปันกับทุกท่านที่อาจจะพลาดไม่ได้เข้าร่วมงานครั้งนี้นะคะ ความเดิมจากตอนที่แล้ว พี่ตั้มเคยเล่าเกี่ยวกับระบบการศึกษาในประเทศอินเดียนั้น ครั้งนี้พี่ตั้มจะมาต่อในเรื่อง “หลักสูตรการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา” ของประเทศอินเดียค่ะ

หลักสูตรการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในอินเดียนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ๆ คือหลักสูตรการศึกษาแบบอินเดียและหลักสูตรการศึกษาแบบอินเตอร์หรือแบบต่างประเทศนั่นเอง โดยจาก 2 รูปแบบหลักนี้ยังได้แบ่งย่อยออกไปเป็นหลากหลายหลักสูตรที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่นการใช้ภาษาสื่อกลางในการเรียนการสอนและการเลือกสาขาวิชาหลักหรือแผนการเรียนค่ะ ทั้งนี้ผู้ปกครองโดยส่วนใหญ่ มักจะเลือกที่รูปแบบของหลักสูตรการศึกษาเป็นอันดับแรกแล้วจึงเลือกหาโรงเรียนที่เปิดสอนในหลักสูตรนั้น ๆ ให้กับบุตรหลาน ทั้งนี้หลักสูตรหลัก ๆ ของโรงเรียนในประเทศอินเดีย จะประกอบไปด้วย 5 หลักสูตร ดังนี้

  • หลักสูตร CBSE (Central Board of Secondary Education)

  • หลักสูตร CISCE (Council for the Indian School Certificate Examinations)

  • หลักสูตร State Board (State Government Recognized Board)

  • หลักสูตร IGCSE (International General Certificate of Secondary Education (IGCSE) Cambridge University)

  • หลักสูตร IB (International Baccalaureate)

สำหรับหลักสูตรการศึกษาแบบอินเดียจะขอกล่าวถึงหลักสูตรหลัก ๆ ที่ได้รับความนิยมและเหมาะสมกับนักเรียนไทย เนื่องจากจะสามารถนำมาเทียบโอนรายวิชากับกระทรวงศึกษาธิการไทย รวมไปถึงสามารถใช้วุฒิการศึกษาในการสมัครเข้าศึกษาต่อได้ในมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศไทย อินเดีย อังกฤษและอเมริกา

> หลักสูตรการศึกษาแบบอินเดีย CBSE

หลักสูตร CBSE ย่อมาจาก Central Board of Secondary Education เป็นหลักสูตรที่ควบคุมดูแลโดยคณะกรรมการกลางระดับมัธยมศึกษา มีการใช้หลักสูตรนี้ทั้งในโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชน เกือบ 15,000 โรงเรียน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอนในบางรายวิชาหรือทุกรายวิชาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับโรงเรียนแต่ละแห่ง เป็นหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับจากทุกมหาวิทยาลัยในอินเดีย อีกทั้งนักเรียนสามารถย้ายโรงเรียนไปเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในหลักสูตรเดียวกันได้ทั่วประเทศ สำหรับหลักสูตร CBSE นั้น นักเรียนจะต้องสอบวัดระดับด้วยข้อสอบกลางเมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นต่อไปนี้

  • เกรด 10 ด้วยข้อสอบวัดระดับ AISSE (The All India Secondary School Examination)

  • เกรด 12 ด้วยข้อสอบวัดระดับ AISSCE (The All India Senior School Certificate Examination)

เมื่อนักเรียนสอบผ่านข้อสอบวัดระดับ AISSE ในเกรด 10 แล้ว นักเรียนจะสามารถเลือกแผนการเรียนต่อในเกรด 11 และเกรด 12 ได้จากสายวิทยาศาสตร์หรือสายศิลปศาสตร์ ซึ่งหลักสูตร CBSE มีจุดเด่นที่เน้นเนื้อหารายวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นหลัก จึงเหมาะกับนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น แพทยศาสตร์ ทันตะแพทยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ เป็นต้น

สำหรับโรงเรียนที่เปิดสอนในหลักสูตร CBSE เช่น

  • โรงเรียน Jain International Residential School (Bangalore) เปิดสอนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเมษายน

  • โรงเรียน Ekya School – ITPL Campus (ในเครือ CMR Group) เปิดสอนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงมีนาคม

  • โรงเรียน CMR National Public School (ในเครือ CMR Group) เปิดสอนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงมีนาคมหลัก

> สูตรการศึกษาแบบอินเดีย CISCE

หลักสูตร CISCE ย่อมาจาก Council for the Indian School Certificate Examinations หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อหลักสูตร ICSE และหลักสูตร ISC เป็นหลักสูตรที่ควบคุมดูแลโดยสภาวัดผลการศึกษาในโรงเรียนของอินเดีย ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอนทุกรายวิชาและสามารถเทียบหลักสูตรได้กับ University of Scotland สำหรับหลักสูตร CISCE นั้น นักเรียนจะต้องสอบวัดระดับด้วยข้อสอบกลางเมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นต่อไปนี้

  • เกรด 10 ด้วยข้อสอบวัดระดับ ICSE (Indian Certificate Secondary Education)

  • เกรด 12 ด้วยข้อสอบวัดระดับ ISC (Indian School Certificate) สำหรับนักเรียนที่ศึกษาในระบบมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ CVE (Certificate for Vocational Education) สำหรับนักเรียนที่ศึกษาในระบบอาชีวศึกษา

สำหรับหลักสูตร CISCE จะเริ่มต้นตั้งแต่เกรด 5 และนักเรียนสามารถเลือกแผนการเรียนวิทยาศาสตร์หรือศิลปศาสตร์ได้ตั้งแต่เกรด 9 โดยในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นนั้นนักเรียนจะต้องเลือกเรียน 7 รายวิชา จาก 3 กลุ่มวิชาเลือก ได้แก่ สายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สายภาษาศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสายศิลปศาสตร์ ธุรกิจและคอมพิวเตอร์ ส่วนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนจะสามารถแบ่งเลือกเรียนวิชาบังคับ 3 วิชาและวิชาเลือก 4 วิชาได้จาก 3 กลุ่มวิชาเลือกเช่นกัน ซึ่งหลักสูตร CISCE มีจุดเด่นที่ให้ความสำคัญเท่า ๆ กันในทุกรายวิชา แต่จะเน้นหนักในรายวิชาภาษาอังกฤษเป็นหลัก จึงทำให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตร CISCE มีความโดดเด่นในภาษาอังกฤษ สามารถสอบ TOEFL และ IELTS ได้คะแนนสูง จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจะศึกษาต่อต่างประเทศในระดับอุดมศึกษา รวมถึงการเทียบวุฒิกับกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยมักไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตามนักเรียนที่เลือกเรียนในหลักสูตรนี้ส่วนใหญ่ เหมาะสมสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อในสาขาศิลปศาสตร์และการบริหาร โดยหลังจากที่นักเรียนสอบผ่าน ISC แล้ว นักเรียนจะสามารถยื่นใบสมัครเพื่อเข้าศึกษาต่อในประเทศอังกฤษได้ทันที

> หลักสูตรการศึกษาแบบอินเดีย State Board

หลักสูตร State Board หรือ State Government Recognized Board เป็นหลักสูตรที่ควบคุมดูแลโดยคณะกรรมการการศึกษาของแต่ละรัฐ แบ่งสาขาวิชาของการเรียนออกเป็นหลากหลายรูปแบบเฉพาะทาง เช่น สายวิทยาศาสตร์ (แพทย์ศาสตร์) สายวิทยาศาสตร์ (วิศวกรรมศาสตร์) สายวิทยาศาสตร์ (คอมพิวเตอร์) สายศิลปศาสตร์ (ธุรกิจคอมพิวเตอร์) และสายศิลปศาสตร์ (ธุรกิจเศรษฐศาสตร์) สำหรับหลักสูตร State Board นั้น นักเรียนจะต้องสอบวัดระดับด้วยข้อสอบกลางจากรัฐบาล ในระดับชั้นต่อไปนี้

  • เกรด 10 ด้วยข้อสอบวัดระดับ SSC (Secondary School Certificate)

  • เกรด 12 ด้วยข้อสอบวัดระดับ HSC (Higher School Certificate)

จุดเด่นของระบบการเรียนในหลักสูตร State Board คือการเรียนในหลักสูตรนี้โดยมากจะใช้สื่อกลางเป็นภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน รวมถึงเน้นหนักทุกรายวิชา มีวิชาบังคับค่อนข้างมาก ทำให้ไม่มีปัญหาในการเทียบวุฒิกับกระทรวงศึกษาธิการของไทย รวมถึงมีโอกาสได้รับสิทธิ์ในการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐนั้น ๆ แต่จุดด้อยของหลักสูตร State Board คือ คุณภาพและเนื้อหาของหลักสูตรจะแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ รวมถึงคุณภาพในการสอนของอาจารย์ในแต่ละโรงเรียนอีกด้วย

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับหลักสูตรการศึกษาแบบอินเดียของประเทศอินเดีย เป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมจากน้อง ๆ นักเรียนไทยอยู่พอสมควรนะคะ ซึ่งถ้าหากน้อง ๆ หรือผู้ปกครองท่านใดสนใจในหลักสูตร CBSE หรือ CISCE สามารถติดต่อทีมงาน WES เพื่อขอรายละเอียดของหลักสูตรและรายวิชาที่น้อง ๆ จะได้เรียนในแต่ละชั้นปีได้นะคะ ช่วงนี้ทางโรงเรียนเริ่มเปิดรับสมัครสำหรับปีการศึกษา 2015 แล้วค่ะ แล้วมาติดตามหลักสูตรการศึกษาแบบอินเตอร์ของอินเดียในรูปแบบอื่น ๆ ทั้ง หลักสูตร IGCSE และ IB รวมถึง Pre University กับพี่ตั้มได้ใหม่ในครั้งต่อไปค่ะ สวัสดีค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  • หนังสือ สาระน่ารู้เกี่ยวกับการศึกษาต่อต่างประเทศ โดย สำนักงาน ก.พ.

  • Jain International Residential School Bangalore, India

  • CMR National Pre University College Bangalore, India

  • วิกิพีเดีย

  • สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเดลี สาธารณรัฐอินเดีย (Royal Thai Embassy, Delhi)

  • http://entrance-exam.net/difference-between-igcse-education-and-cbse-education/

  • http://blog.schoolfinder.co.in/2014/02/difference-between-cbse-icse-igcse-ib.html

  • http://www.learnhive.net/blog/2012/12/everything-that-you-wanted-to-know-about-cbse-icse-igcse-and-other-international-syllabi/

ดู 1,461 ครั้ง
Recent Posts
อ่านทั้งหมด
bottom of page