สวัสดีค่ะ กลับมาพบกับพี่ตั้มอีกครั้ง ในช่วงสาระน่ารู้เกี่ยวกับระบบการศึกษาในอินเดียนะคะ ตอนที่แล้ว พี่ตั้มได้พูดถึงหลักสูตรต่าง ๆ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาไป ในวันนี้พี่ตั้มจะมาพูดถึงระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในอินเดียต่อจ้า โดยอ้างอิงจากระบบการศึกษาของเมืองบังกาอลร์ เมืองที่ขึ้นชื่อว่า มีวิทยาลัยในสาขาวิชาทั่วไปและวิทยาลัยทางวิศวะฯ มากที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดีย และยังเป็นเมืองที่น้อง ๆ คนไทยนิยมมาเรียนรวมถึงตัวพี่ตั้มเองที่ก็ยังเรียนอยู่ที่นี่ค่ะ
เนื่องด้วยประเทศอินเดียมีจำนวนประชากรเยอะมากค่ะ จึงทำให้จำนวนนักเรียน นักศึกษามีเยอะจนล้นหลามไปหมด การจัดระบบการศึกษาของอินเดียจึงแตกต่างไปจากเมืองไทยค่อนข้างมาก ด้วยเหตุของการต้องควบคุมคุณภาพการศึกษา ที่อินเดียจึงต้องใช้ระบบข้อสอบร่วมเพื่อวัดมาตราฐานให้ผู้เรียนมีคุณภาพไปในทิศทางเดียวกัน
ระบบการจัดมาตรฐานของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของที่นี่ สามารถแบ่งหมวดหมู่ของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
1. มหาวิทยาลัยหลักประจำรัฐ (Main University) เช่น Bangalore University, Rajiv Gandhi University of Health Sciences และ Visvesvaraya Technological University เป็นต้น มหาวิทยาลัยเหล่านี้จะเป็นผู้กำหนดหลักสูตร กำหนดรายวิชา กำหนดมาตรฐานการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการออกข้อสอบ กำหนดตารางสอบ การตรวจข้อสอบ การตัดเกรด และการออกใบปริญญาบัตร สำหรับมหาวิทยาลัยบังกาลอร์นั้น ไม่ทำการสอนด้วยตนเองในระดับปริญญาตรี (Undergraduate) ยกเว้นวิศวะฯ แต่จะเปิดสอนเฉพาะ ป.โท และ ป.เอก ซึ่งพี่ตั้มก็เรียน ป.เอก วิศวะฯ อยู่ที่มหาวิทยาลัยบังกาลอร์นี่แหละจ้า
2. วิทยาลัยในกำกับหรือวิทยาลัยร่วม (Affiliate College) เช่น CMR, Archaya, Presidency, St. hopskin และ Teacher academy เป็นต้น วิทยาลัยเหล่านี้จะเป็นผู้ทำการสอนในสาขาวิชา (คณะ) ต่าง ๆ ตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยหลักกำหนด โดยส่วนใหญ่วิทยาลัยจะกำหนดว่าอยู่ในกำกับของมหาวิทยาลัยไหน เช่น ถ้าหลักสูตร ป.ตรี ทั่วไป จะระบุว่า Affiliated Bangalore University ก็คือใช้หลักสูตรและข้อสอบจากมหาวิทยาลัยบังกาลอร์ หรือถ้าวิทยาลัยทางวิศวะฯ ก็จะระบุว่า Affiliated VTU, Belgium เป็นต้น ทั้งนี้เราสามารถแบ่งวิทยาลัยตามขนาดและความพร้อมของวิทยาลัยได้ 2 ระดับ คือ
- วิทยาลัยที่มีความพร้อมในการออกข้อสอบและตัดเกรดเอง (Autonomous College) เช่น CMR, Presidency, Garden City โดยอาศัยอ้างอิงหลักสูตรและมาตรฐานตามมหาวิทยาลัยหลัก
- วิทยาลัยขนาดกลางไปจนถึงเล็ก ที่ทำหน้าที่แค่เพียงจัดการสอน จัดการสอบย่อย และคะแนนเก็บ ตามข้อกำหนดของวิทยาลัยหลัก โดยอาศัยข้อสอบปลายภาค การตรวจและตัดเกรดโดยมหาวิทยาลัยหลัก เช่น Newshore Internaltion College, St. , SSR
นอกจากนี้วิทยาลัยยังสามารถแบ่งออกเป็นวิทยาลัยของรัฐ วิทยาลัยร่วมของรัฐและวิทยาลัยเอกชนอีกด้วยค่ะ สำหรับนักศึกษาที่เรียนจบจากวิทยาลัยในกำกับ จะได้รับปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยหลักนะคะ
3. มหาวิทยาลัยเอกชน (Deem University) เช่น Christ University, CMR university, Presidency University, Reva University และ Jain University เป็นต้น สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนนั้น จะจัดทำหลักสูตร ทำการสอน ออกข้อสอบ ตัดเกรดด้วยตัวเอง นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยเอกชน จะได้รับปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ทั้งนี้การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเอกชนในอินเดีย จะเป็นการยกระดับขึ้นมาจากวิทยาลัยขนาดใหญ่ (Autonomous College) ที่เคยอยู่ภายใต้กำกับของมหาวิทยาลัยหลักมาก่อน โดยวิทยาลัยนั้น ๆ จะต้องมีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนได้ครบรูปแบบ ออกแบบหลักสูตรได้ด้วยตัวเอง รวมถึงต้องมีโรงเรียน และวิทยาลัยเตรียมความพร้อม (Pre-University College) เป็นของตนเอง จึงจะสามารถทำการขอรับรองเพื่อขึ้นเป็น Deem University ได้ค่ะ ดังนั้นมหาวิทยาลัยเอกชนส่วนใหญ่มักจะเคยเป็นวิทยาลัยที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน จนสามารถควบคุมคุณภาพการศึกษาและได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยนั่นเองค่ะ จะเห็นได้จาก Christ University ซึ่งคนอินเดียหลาย ๆ คนจะยังคงติดปากเรียกว่า Christ College อยู่เลยค่ะ
4. มหาวิทยาลัยเฉพาะทางจากส่วนกลาง เช่น NIT และ IIIT (รวมถึง IISC) จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเครือข่ายอยู่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยควบคุมมาตรฐานจากส่วนกลางค่ะ
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจมาเรียนที่บังกาลอร์ อาจจะเคยเกิดความสับสนว่าก็สมัครมาเรียนที่มหาวิทยาลัยบังกาลอร์ แต่ทำไมไม่ได้เรียนที่มหาวิทยาลัยเลย ทำไมถึงต้องได้ไปเรียนวิทยาลัยต่าง ๆ หวังว่าบทความนี้จะช่วยไขความกระจ่างให้เข้าใจมากขึ้นนะคะ
แต่อย่างไรก็ตาม การเลือกวิทยาลัยนั้น พี่ตั้มขอแนะนำใหคำนึงถึงความสามารถในการรับมือกับนักศึกษาต่างชาติของวิทยาลัยด้วยนะคะ เนื่องจากบางวิทยาลัยอาจจะไม่ได้สอนโดยการใช้ภาษาอังกฤษ 100% รวมไปจนถึงบางวิทยาลัยมีสภาพเพียงแค่เหมือนสถาบันกวดวิชา มีเพียงบางหลักสูตรที่เปิดสอนด้วยวุฒิปริญญาตรี แต่ที่เหลือเปิดสอนแค่วุฒิประกาศนียบัตร หรือความเข้มงวดในการเช็คเวลาเรียน อีกทั้งความสามารถในการช่วยเหลือนักศึกษาต่างชาติเกี่ยวกับวีซ่าอีกด้วยค่ะ อย่าลืมเช็คข้อมูลเหล่านี้กันดี ๆ นะคะ
ในวันนี้พี่ตั้มขอจบหัวข้อประเภทของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยไว้เพียงเท่านี้ ในตอนหน้าพี่ตั้มจะมาพูดถึงสาขาวิชาที่เปิดสอน สาขาวิชายอดฮิตของคนไทย และความแตกต่างกับหลักสูตรในประเทศไทย แล้วเจอกันใหม่จ้า….